วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

2.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ,อาชญากรคอมพิวเตอร์, พรบ.คอมพิวเตอร์

อาชญากรรมคอมพิวเตอร์(Computer Crime) และพ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์



     วิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้พัฒนาเรื่อยมาจนเกิดนวัตรกรรมคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อระหว่างกันเป็นเครือข่ายในปลายทศวรรษที่ 60 (ปีค.ศ. 1969 กำเนิดอินเทอร์เน็ต) อินเทอร์เน็ตได้ขยายตัวและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะอำนวยความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ตลอดเวลา ลดข้อจำกัดเรื่องสถานที่ และที่สำคัญราคาถูกลงเรื่อยๆ

     ในแต่ละวันมีผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องบริการสืบค้นข้อมูล แลกเปลี่ยนข่าวสาร สร้างเว็บบล็อกส่วนตัว บริการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ สนทนาออนไลน์ ทำงานออนไลน์ และบริการความบันเทิงต่างๆ แต่อีกด้านสิ่งที่ตามมาและพัฒนามาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ และแก้ไม่ตกของประเทศหลายประเทศ ซึ่งต้องหาวิธีในการป้องกัน และปราบปราม นั่นก็คือ การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” ที่ผู้กระทำผิดได้ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการดักจับข้อมูล การเจาะเข้าระบบรักษาความปลอดภัย การปล่อยไวรัสผ่านอีเมล การโพสกระทู้หมิ่นประมาท ใส่ร้ายคนอื่นเพื่อความสะใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือแม้กระทั่งการหลอกลวงผ่านการเชทต่างๆ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้สร้างความเสียหายด้านการเงินแก่ธุรกิจองค์กรต่างๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือแม้แต่ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากก็ยังตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ

     อาชญากรทางคอมพิวเตอร์ ก็คือผู้กระทำผิดกฎหมายโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญ เป็นการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้การเข้าถึงข้อมูล โดยที่ผู้กระทำไม่ได้รับอนุญาต การลักลอบแก้ไข ทำลาย คัดลอกข้อมูล ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด แม้ไม่ถึงกับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบกฎเกณฑ์ จริยธรรมของการใช้คอมพิวเตอร์

     ประวัติศาสตร์ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์
วิวัฒนการของ "อาชญากรรมคอมพิวเตอร์" (Computer Crime) ได้พัฒนาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จากอดีตทศวรรษที่ 60 (ช่วงปีค.ศ. 1960-1970) ผู้คนและนักวิชาการหลายประเทศในแถบตะวันตกได้ให้ความสนใจ และเรียกร้องรัฐต้องคุ้มครอง "ข้อมูลส่วนบุคคล" เป็นพิเศษ เนื่องจากสมัยนั้นคอมพิวเตอร์มีประโยชน์หลักๆ จำกัดอยู่เพียงแค่ การเก็บบันทึก ประมวลผล หรือเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชนในประเทศเท่านั้น

     ต่อมาในช่วง ทศวรรษที่ 70 (ช่วงปีค.ศ. 1970-1980) อาชญากรรมหรือการกระทำความผิดหรือการกระทำความผิดโดยมีคอมพิวเตอร์เข้าไปเกี่ยวข้องได้เข้าสู่ยุด "อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ" หรือ ที่รู้จักกันในนาม “White Collar Crimes” อาชญากรรมเชิ้ตขาว หรืออาชญากรรมเสื้อคอปก ที่ผู้กระทำความผิดเป็นกลุ่มคนทำงานดี แต่งตัวดี หรือมีความรู้ความสามารถ ตัวอย่างอาชญากรรมเศรษฐกิจ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา, การปั่นหุ้น, ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากร, ธุรกิจต่าง ๆ, สถาบันการเงิน เกี่ยวกับการค้า หรือธุรกิจเงินนอกระบบ เป็นต้น การก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้สร้างความเสียหาย ทั้งแก่เศรษฐกิจของปัจเจกชน และได้ทำลายความเชื่อถือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติสังคมส่วนรวม

     อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาเรื่อยมา จนถึงยุคของ “อาชญากรรมเครือข่าย" (Cyber Crime) หรือ "อาชญากรรมอินเทอร์เน็ต" (Internet Crime) นับจากทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ลักษณะการกระทำความผิดที่เริ่มปรากฏตัวขึ้น ในยุคหลังการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในแง่มุมต่างๆ เช่น ภาพลามกอนาจารเด็ก, การพนัน, การจำหน่ายอาวุธ หรือ เผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาแอบแฝงแนวคิดก้าวร้าว รุนแรง หรือ แนวคิดในการดูหมิ่นชนชาติอื่น การเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการหมิ่นประมาท ผ่านสื่อบริการทั้งหลายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเว็บไซต์ กระดานข่าว จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ห้องสนทนาออนไลน์ และเครือข่ายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Facebook เป็นต้น

      ปัจจุบัน "อาชญากรรมไซเบอร์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "อาชญากรรมคอมพิวเตอร์" ได้เริ่มแผ่ขยายขอบเขตการทำลาย และสามารถสร้างความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือส่งผลกระทบต่อ ค่านิยม แนวคิด สังคม รวมทั้งพัฒนาการของเด็ก และเยาวชนอีกด้วย

      "อาชญากรรมคอมพิวเตอร์" กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก ถึงแม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ใช้ความคุมการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม แต่การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องแม้เทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่ายจะพัฒนามากขึ้นแล้วก็ตาม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ๆ ก็ยังมีช่องโหว่ ตัวอย่างเช่น รายงานข่าวประเด็น “เว็บ AT&T ถูกแฮกเกอร์ขโมยอีเมลคนซื้อ iPad 3G” เกิดเหตุแฮกเกอร์เจาะระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์ของ AT&T โอเปอเรเตอร์อเมริกันเบอร์หนึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือสำหรับ iPhone และ iPad ผลคือรายการอีเมลแอดเดรสของผู้ใช้งาน iPad 3G จำนวนมากกว่า 114,000 คนถูกขโมยไป หวั่นนอกจากลูกค้า iPad 3G ในสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงเป็นเหยื่อสแปมเมลและนานาการทำตลาดที่ไม่ต้องการ ยังอาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลและสร้างความเสียหายอื่นๆในอนาคตด้วย(ผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2553)

     และรายงานข่าวประเด็น “like ปลอม มัลแวร์เฟสบุ๊กยอดยี้”เตือนภัยอย่าหลงเชื่อข้อความโพสต์ในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่ มีสถิติการกด“like”จำนวนมากโดยเพื่อนหลายคน ซึ่งมักทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อและสนใจคลิกเข้าไปอ่านบทความหลุมพรางนั้นทันที และเมื่อคลิกแล้ว โพสต์นั้นจะถูกส่งไปแสดงบนหน้าเฟสบุ๊กหรือ Facebook wall โดยอัตโนมัติ ก่อนจะหลอกลวงเพื่อนสมาชิกในกลุ่มของเหยื่อต่อไปเป็นทอดๆ (ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2553) เป็นต้น

พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550
     พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์นี้ ได้มีผลบังคับใช้ตั้ง แต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป

     กฎหมายฉบับนี้ มีทั้งหมด 30 มาตรา บัญญัติความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ไว้ค่อนข้างครอบคลุมเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการเจาะระบบ ดักข้อมูลส่วนบุคคล ปล่อยไวรัสก่อกวน ทำลายระบบ รวมถึงพวกที่ชอบก่อกวนและแกล้งคนอื่น และความผิดของผู้ให้บริการหรือเจ้าของเว็บอีกด้วย อัตราโทษสำหรับการลงโทษผู้กระทำผิด มีตั้ง แต่ปรับอย่างเดียว จนสูงสุดจำคุกถึง 20 ปี

     ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้ที่มีผลใช้บังคับมามาได้เกือบสามปีแล้วก็ตาม อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กลับไม่ลดน้อยลง ในทางตรงกันข้ามได้พัฒนารูปแบบและวิธีการกระทำความผิดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น จนกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันว่ากฎหมายคอมพิวเตอร์อาจล้าสมัยไปแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ยุคสังคมออนไลน์

      ความนิยมใน Hi5, Myspace, Facebook และ Twitter กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จำนวนสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายออนไลน์ดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลไหลเวียนอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พื้นที่สื่อบนอินเตอร์เน็ตมีจุดเด่นคือ เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติดต่อสื่อสารและการไหลเวียนของข้อมูลได้โดยเสรี ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความเข้าใจผิดและใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างไม่ถูกไม่ควร อันเนื่องมาจากการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์เราสามารถกระทำโดยไม่ต้องสัมผัสตัวตนแท้จริงของอีกฝ่าย จึงเป็นช่องทางที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงอารมณ์ ที่ไม่กล้าทำในการสื่อสารปกติทั่วไป เช่น โพสต์ข้อความหยาบคลาย ข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่น หรือแม้แต่การโพสต์ข้อความโฆษณาสินค้าที่เกินจริงและหลอกลวงผู้บริโภคฯลฯ

     และอีกปัญหาที่ตามมาก็คือ “การละเมิดต่อข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะการกระทำความผิดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไปโจมตีเครือข่ายหรือคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ เท่านั้น แต่สามารถใช้เพื่อละเมิดสิทธิความเป็นตัวตนและส่วนบุคคลได้อีกด้วย

     ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการเพื่อใช้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการ แต่ยังไม่มีกฎหมายขึ้นมารองรับข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในส่วนของภาคเอกชน นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ไม่ใช่การคุ้มครองการนำข้อมูลไปใช้โดยตรง แต่เป็นการให้ความคุ้มครองการใช้งานในลักษณะทั่วไป

     ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐได้หาแนวทางแก้ไขโดยมีแนวคิดที่จะนำเครื่องมือมาใช้ในการตรวจจับความไหลเวียนของข้อมูลที่เคลื่อนตัวผ่านอินเตอร์เน็ต แต่กลับทำให้เกิดคำถามและเกิดความตื่นตัวเรื่องของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลโดยเฉพาะกับผู้คนในกลุ่มที่นิยมใช้อินเตอร์เน็ตท่องเว็บ หาข้อมูล หรือติดต่อสื่อสาร จนกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันว่าถึงเวลาต้องกลับมาทบทวนกฎหมาย กลไกการควบคุมดูแล มาตรการป้องปรามโดยภาครัฐที่สอดคล้องสมดุลไปกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคุ้มครองข้อมูลโลกออนไลน์อย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหายและไม่ให้มีการละเมิดนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ขณะเดียวกัน ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของความสมดุลระหว่างการใช้อำนาจของภาครัฐที่อาจกลายเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนเสียเอง หากมีการนำแนวคิดเรื่องของการดักจับการไหลเวียนของข้อมูลในโลกออนไลน์มาใช้ปฏิบัติจริง และการดักจับการไหลเวียนของข้อมูลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือ การให้บริการที่ล่าช้าลง เนื่องจากผู้ให้บริการต้องมาคอยตรวจสอบข้อมูลที่ส่งผ่านกันไปมาในระบบ ซึ่งผู้ให้บริการอาจถูกประชาชนผู้ใช้บริการร้องเรียนเรื่องการให้บริการได้

      อย่างไรก็ดีการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญและประชาชนผู้ใช้บริการต้องตระหนักถึงผลกระทบของการถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งสำคัญที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน คือ แนวทางในการจัดเก็บข้อมูล โดยหลักการให้การจัดเก็บข้อมูลและการนำไปใช้ต้องเป็นไปโดยมีข้อจำกัดภายใต้วัตถุประสงค์การจัดเก็บและนำข้อมูลไปใช้ที่ชัดเจน มีการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หากไม่เป็นตามกฎเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ย่อมถือเป็นการล่วงละเมิดข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

      แนวโน้มอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการป้องกัน
      การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะสร้างความสะดวก รวดเร็วต่อระบบการสื่อสารข้อมูล แต่อีกด้านก็เป็นแรงกระตุ้นให้การก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย และดูเหมือนว่าจะก้าวหน้าเกินกว่าเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะตามทันเสียอีก

     การพัฒนาโปรแกรมที่จะทำอันตรายแก่ทั้งข้อมูลและคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับการก่ออาชญากรรมกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ภาคการเงิน การธนาคารเป็นหลัก สังคมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างเฟชบุ๊ค กลายเป็นพื้นที่ของการก่อกวนและกำลังตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ด้านองค์กรธุรกิจพบว่ามีการกระจายของมัลแวล์เพิ่มสูงขึ้นถึง 7 % ซึ่งเกิดมาจากการทำโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเฟคเอนติไวรัสซีเคียวริตี้ ทำให้เหยื่อหลงดาวว์โหลดโปรแกรมดังกล่าวที่มีมัลแวล์ฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว

     ปัจจุบันการเข้าถึงโปรแกรมสำหรับการเจาะเข้าระบบข้อมูลทางอิเล็กโทรนิกส์ทำได้ง่ายขึ้น โดยผู้ไม่หวังดีสามารถสั่งซื้อโปรแกรมโทรจันที่มีชื่อว่า ดิอุสโทรจัน ซึ่งมีราคาประมาณ 700 เหรียญสหรัฐหรือราวๆ 2 หมื่นสามพันบาท โปรแกรมนี้จะทำหน้าที่ขโมยข้อมูลทางการเงินของเหยื่อที่เคยทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ โดยเหยื่อจะติดโปรแกรมนี้จากอีเมลฟิชชิงแอพแพ็คหรือการดาวว์โหลดข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์

     สำหรับการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการโจรกรรมเงินของลูกค้าในบัญชีธนาคาร ขโมยความลับของบริษัทต่างๆ ที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ การปล่อยไวรัส ปลอมแปลงเอกสาร และการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อก่อวินาศกรรม

      ในอนาคตอันใกล้ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 3 จีและไวแม็กที่มือถือสามารถเชื่อมต่อบริการอินเตอร์เน็ต การก่ออาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เมื่อไทยเข้าสู่ยุด 3 จีเมื่อไร การแฮกออนแอร์ก็จะเกิดขึ้น การแฮกออนแอร์คือ การแฮกกลางอากาศที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สมัยก่อนการแฮกข้อมูลหรือทำอะไรสักอย่างจะต้องไปที่เซิร์ฟเวอร์ ต้องปลอมตัวเข้าไปในเครื่อง ซึ่งระบบเน็ตเวิร์ดสมัยก่อนมันช้า ทำให้การแฮกข้อมูลช้าตามไปด้วย

      จะเห็นได้ว่าในอนาคตการก่ออาชญากรรมคอมพิวแตอร์มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่บุคคลากรด้านผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีซิเคียวริตี้ยังมีจำกัด และกฎหมายไอทีเองก็เริ่มจะไม่ครอบคลุมการกระทำผิดที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการใหม่ๆ



วิธีการแก้ปัญหาในขั้นต้นก็คือผู้ใช้เทคโนโลยีทุกคนควรศึกษาข้อมูลด้านการป้องกันภัยเทคโนโลยีในเบื้องต้นเพื่อใช้ป้องกันตนเอง องค์กรธุรกิจก็ควรให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แม้จะต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงแต่ก็ถือว่าคุ้มค่าหากเทียบกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพที่ทำให้ต้องเสียหายโดยไม่รู้ตัว

สำหรับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ควรบอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อโรงเรียน ที่ทำงาน หรือเบอร์ที่ทำงาน เลขบัตรเครดิต ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต ในด้านของโฆษณาต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตพึงตระหนักว่าเสมอว่า ของถูกและดีไม่มีในโลก
อาชญากรคอมพิวเตอร์
อาชญากรคอมพิวเตอร์ คือ ผู้กระทำผิดกฎหมายโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญ มีการจำแนกไว้ดังนี้

    1.Novice เป็นพวกเด็กหัดใหม่(newbies)ที่เพิ่งเริ่มหัดใช้คอมพิวเตอร์มาได้ไม่นาน หรืออาจหมายถึงพวกที่เพิ่งได้รับความไว้วางใจให้เข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
    2.Darnged person คือ พวกจิตวิปริต ผิดปกติ มีลักษณะเป็นพวกชอบความรุนแรง และอันตราย มักเป็นพวกที่ชอบทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้าไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ หรือสภาพแวดล้อม
    3.Organized Crime พวกนี้เป็นกลุ่มอาชญากรที่ร่วมมือกันทำผิดในลักษณะขององค์กรใหญ่ๆ ที่มีระบบ พวกเขาจะใช้คอมพิวเตอร์ที่ต่างกัน โดยส่วนหนึ่งอาจใช้เป็นเครื่องหาข่าวสาร เหมือนองค์กรธุรกิจทั่วไป อีกส่วนหนึ่งก็จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นตัวประกอบสำคัญในการก่ออาชญากรรม หรือใช้เทคโนโลยีกลบเกลื่อนร่องร่อย ให้รอดพ้นจากเจ้าหน้าที่
    4.Career Criminal พวกอาชญากรมืออาชีพ เป็นกลุ่มอาชญากรคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่มาก กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจับผิดแล้วจับผิดเล่า บ่อยครั้ง
    5. Com Artist คือพวกหัวพัฒนา เป็นพวกที่ชอบความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน อาชญากรประเภทนี้จะใช้ความก้าวหน้า เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และความรู้ของตนเพื่อหาเงินมิชอบทางกฎหมาย
    6.Dreamer พวกบ้าลัทธิ เป็นพวกที่คอยทำผิดเนื่องจากมีความเชื่อถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างรุ่นแรง
    7.Cracker หมายถึง ผู้ที่มีความรู้และทักษะทางคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี จนสามารถลักลอบเข้าสู่ระบบได้ โดยมีวัตถุประสงค์เข้าไปหาผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มักเข้าไปทำลายหรือลบไฟล์ หรือทำให้คอมพิวเตอร์ใช้การไม่ได้ รวมถึงทำลายระบบปฏิบัติการ

อาชญากรรมคอมพิวเตอร์
อาชญากรคอมพิวเตอร์จะก่ออาชญากรรมหลายรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดออกเป็น 9 ประเภท (ตามข้อมูลคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจร่างกฎหมายอาชญาญากรรมคอมพิวเตอร์)
    1.การขโมยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงการขโมยประโยชน์ในการลักลอบใช้บริการ
    2.อาชญากรนำเอาระบบการสื่อสารมาปกปิดความผิดของตนเอง
    3.การละเมิดสิทธิ์ปลอมแปรงรูปแบบ เลียนแบบระบบซอพต์แวร์โดยมิชอบ
    4.ใช้คอมพิวเตอร์แพร่ภาพ เสียง ลามก อนาจาร และข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
    5.ใช้คอมพิวเตอร์ฟอกเงิน
    6.อันธพาลทางคอมพิวเตอร์ที่เช้าไปก่อกวน ทำลายระบบสารณูปโภค เช่น ระบบจ่ายน้ำ จ่ายไป ระบบการจราจร
    7.หลอกลวงให้ร่วมค้าขายหรือลงทุนปลอม
    8.แทรกแซงข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้นมาเป็น)ระโยชน์ต่อตนโดมิชอบ เช่น ลักรอบค้นหารหัสบัตรเครดิตคนอื่นมาใช้ ดักข้อมูลทางการค้าเพื่อเอาผลประโยชน์นั้นเป็นของตน
    9.ใช้คอมพิวเตอร์แอบโอนเงินบัญชีผู้อื่นเข้าบัญชีตัวเอง

พรบ.คอมพิวเตอร์ 2554

      เมื่อวันจันทร์ที่28 มี.ค. 54 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัด ประชุมรับฟังและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยในการประชุมดังกล่าว มีการแจกเอกสารร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กระทรวงไอซีทีจัดทำขึ้นด้วย
ร่าง กฎหมายนี้ เขียนขึ้นเพื่อให้ยกเลิกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ทั้ง ฉบับ และให้ใช้ร่างฉบับใหม่นี้แทน อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเนื้อหากฎหมายมีลักษณะคล้ายคลึงฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญที่ต่างไป ดังนี้
ประเด็นที่1 เพิ่มนิยาม “ผู้ดูแลระบบ”
มาตรา4 เพิ่ม นิยามคำว่า “ผู้ดูแลระบบ” หมายความว่า “ผู้มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการแก่ผู้อื่นในการเข้าสู่อิน เทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น”
ใน กฎหมายเดิมมีการกำหนดโทษของ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การพยายามเอาผิดผู้ให้บริการซึ่งถือเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสาร จะส่งผลต่อความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง อีกทั้งในแง่ของกฎหมายคำว่าผู้ให้บริการก็ตีความได้อย่างกว้างขวาง คือแทบจะทุกขั้นตอนที่มีความเกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ล้วนเป็น ผู้ให้บริการทั้งสิ้น
สำหรับ ร่างฉบับใหม่ที่เพิ่มนิยามคำว่า “ผู้ดูแลระบบ” ขึ้นมานี้ อาจหมายความถึงเจ้าของเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ แอดมินระบบเครือข่าย แอดมินฐานข้อมูล ผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการเนื้อหาเว็บ เจ้าของบล็อก ขณะที่ “ผู้ให้บริการ” อาจหมายความถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ตาม ร่างกฎหมายนี้ ตัวกลางต้องรับโทษเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากมีการเขียนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ผู้ดูแลระบบและผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมมีความผิดทางอาญาเท่ากับผู้ที่ กระทำความผิด และสำหรับความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่นการเจาะระบบ การดักข้อมูล หากผู้กระทำนั้นเป็นผู้ดูแลระบบเสียเอง จะมีโทษ1.5 เท่าของอัตราโทษที่กำหนดกับคนทั่วไป
ประเด็นที่ 2 คัดลอกไฟล์ จำคุกสูงสุด 3 ปี
สิ่ง ใหม่ในกฎหมายนี้ คือมีมาตรา16 ที่ เพิ่มมาว่า “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งนี้ การทำสำเนาคอมพิวเตอร์ อาจหมายถึงการคัดลอกไฟล์ การดาว์นโหลดไฟล์จากเว็บไซต์ต่างๆ มาตรานี้อาจมีไว้ใช้เอาผิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือเพลง แต่แนวทางการเขียนเช่นนี้อาจกระทบไปถึงการแบ็กอัปข้อมูล การเข้าเว็บแล้วเบราว์เซอร์ดาว์นโหลดมาพักไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติหรือที่ เรียกว่า “แคช” (cache เป็น เทคนิคที่ช่วยให้เรียกดูข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยเก็บข้อมูลที่เคยเรียกดูแล้วไว้ในเครื่อง เพื่อให้การดูครั้งต่อไป ไม่ต้องโหลดซ้ำ) ซึ่งผู้ใช้อาจมิได้มีเจตนาหรือกระทั่งรับรู้ว่ามีกระทำการดังกล่าว
ประเด็นที่ 3 มีไฟล์ลามกเกี่ยวกับเด็ก ผิด
ในมาตรา25 “ผู้ ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือ เยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เป็นครั้งแรกที่มีการระบุขอบเขตเรื่อง ลามกเด็กหรือเยาวชนโดยเฉพาะขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือว่า ลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้นหมายความอย่างไร นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังเป็นการเอาผิดที่ผู้บริโภค ซึ่งมีความน่ากังวลว่า การชี้วัดที่ “การครอบครอง” อาจทำให้เกิดการเอาผิดที่ไม่เป็นธรรม เพราะธรรมชาติการเข้าเว็บทั่วไป ผู้ใช้ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการเข้าชมแต่ละครั้งดาว์นโหลดไฟล์ใดมาโดย อัตโนมัติบ้าง และหากแม้คอมพิวเตอร์ถูกตรวจแล้วพบว่ามีไฟล์โป๊เด็ก ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ดูผู้ชม
ประเด็นที่ 4 ยังเอาผิดกับเนื้อหา
มาตรา24 (1) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
เนื้อความข้างต้น เป็นการรวมเอาข้อความในมาตรา14 (1) และ (2) ของ กฎหมายปัจจุบันมารวมกัน ทั้งนี้ หากย้อนไปถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมก่อนจะเป็นข้อความดังที่เห็น มาจากความพยายามเอาผิดกรณีการทำหน้าเว็บเลียนแบบให้เข้าใจว่าเป็นหน้าเว็บ จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) จึง เขียนกฎหมายออกมาว่า การทำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมถือเป็นความผิด แต่เมื่อแนวคิดนี้มาอยู่ในมือนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ ได้ตีความคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” เสียใหม่ กลายเป็นเรื่องการเขียนเนื้อหาอันเป็นเท็จ และนำไปใช้เอาผิดฟ้องร้องกันในเรื่องการหมิ่นประมาท ความเข้าใจผิดนี้ยังดำรงอยู่และต่อเนื่องมาถึงร่างนี้ซึ่งได้ปรับถ้อยคำใหม่ และกำกับด้วยความน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่น ตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกสูงสุด ห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หาก พิจารณาจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ปัญหานี้ก่อให้เกิดการเอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะหลายกรณี รัฐไทยเป็นฝ่ายครอบครองการนิยามความจริง ปกปิดความจริง ซึ่งย่อมส่งผลให้คนหันไปแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตแทน อันอาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อความไม่มั่นคงของ “รัฐบาล” ข้อความกฎหมายลักษณะนี้ยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิด เห็นโดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่5 ดูหมิ่น ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
มาตรา26 ผู้ ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือข้อมูลอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย หรือเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่ผ่านมามีความพยายามฟ้องคดีหมิ่น ประมาทซึ่งกันและกันโดยใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวนมาก แต่การกำหนดข้อหายังไม่มีมาตราใดในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่จะใช้ได้อย่างตรงประเด็น มีเพียงมาตรา 14 (1) ที่ระบุเรื่องข้อมูลอันเป็นเท็จดังที่กล่าวมาแล้ว และมาตรา 16 ว่าด้วยภาพตัดต่อ ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้สร้างความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อ หาการดูหมิ่นต่อกันได้ง่ายขึ้นข้อสังเกตคือ ความผิดตามร่างฉบับใหม่นี้กำหนดให้การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทมีโทษจำคุกสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งที่การหมิ่นประมาทในกรณีปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ประเด็นที่6 ส่งสแปม ต้องเปิดช่องให้เลิกรับบริการ
มาตรา21 ผู้ ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ทางการค้าจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ และโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากที่กฎหมายเดิมกำหนดเพียงว่า การส่งจดหมายรบกวน หากเป็นการส่งโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ถือว่าผิดกฎหมาย ในร่างฉบับใหม่แก้ไขว่า หากการส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการ บอกรับได้ ทั้งนี้อัตราโทษลดลงจากเดิมที่กำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท มาเป็นจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้ง นี้ ยังต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากการส่งข้อมูลดังกล่าว แม้จะเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ แต่ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็จะไม่ผิดตามร่างฉบับใหม่นี้
ประเด็นที่7 เก็บโปรแกรมทะลุทะลวงไว้ คุกหนึ่งปี
มาตรา23 ผู้ ใดผลิต จำหน่าย จ่ายแจก ทำซ้ำ มีไว้ หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่ง หรืออุปกรณ์ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความ ผิดตามมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
น่าสังเกตว่า เพียงแค่ทำซ้ำ หรือมีไว้ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เจาะระบบ การก๊อปปี้ดาวน์โหลดไฟล์อย่างทอร์เรนท์ การดักข้อมูล การก่อกวนระบบ ก็มีความผิดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เรื่องนี้น่าจะกระทบต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง
ประเด็นที่ 8 เพิ่มโทษผู้เจาะระบบ
สำหรับ กรณีการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เดิมกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเพดานโทษเป็นจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท(เพิ่มขึ้น 4 เท่า)
ประเด็นที่ 9 ให้หน้าที่หน่วยใหม่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ร่าง กฎหมายนี้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานซึ่งมีชื่อว่า “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “สพธอ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “ETDA” เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที
หน่วยงานนี้ เพิ่งตั้งขึ้นเป็นทางการ ประกาศผ่าน “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิสก์ พ.ศ. 2554” เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 54 โดยเริ่มมีการโอนอำนาจหน้าที่และจัดทำระเบียบ สรรหาประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มี.. 54
ใน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มีบทบาทเป็นฝ่ายเลขานุการของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” ภายใต้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่กำลังร่างนี้
นอกจากนี้ หากคดีใดที่ต้องการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดซึ่งอยู่ในต่างประเทศ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ในร่างกฎหมายนี้กำหนดว่า พนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การ มหาชน) เป็นผู้ประสานงานกลางให้ได้ข้อมูลมา
ประเด็นที่10 ตั้งคณะกรรมการ สัดส่วน 8 – 3 – 0 : รัฐตำรวจ-ผู้ทรงคุณวุฒิ-ประชาชน
ร่าง กฎหมายนี้เพิ่มกลไก“คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทาง คอมพิวเตอร์” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคลจากผู้มี ความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือสังคมศาสตร์จำนวนสามคน โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
คณะกรรมการชุด นี้ ให้ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน), สำนักงานกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (สังกัดกระทรวงไอซีที), สำนักคดีเทคโนโลยี (สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม), และ กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) (สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นเลขานุการร่วมกัน
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกระเบียบ ประกาศ ตามที่กำหนดในพ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐาน รวมถึง “ปฏิบัติการอื่นใด” เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการและอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

12 ความคิดเห็น:

  1. ยอดไปเลย
    ทำให้ฉันเข้าใจเรื่อง พรบ.ของคอมพิวเตอร์มากขึ้นเยอะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุญคร๊าบบบ อ่านเเล้วเข้าใจง่ายมากเลยๆๆ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากจ๊ะ สำหรับข้อมูล

    ตอบลบ
  4. ได้ความรู้เพิ่มเติม

    ตอบลบ
  5. สุดยอดแมงแปกเลย ^^

    ตอบลบ
  6. เนื้อหาดีมากเลยนะ

    ตอบลบ